บทคัดย่อ :
ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ผู้วิจัย นายทศพร ภูผาธรรม
สถานที่ โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในครั้งนี้ใช้รูปแบบการประเมินตามรูปแบบซิป (CIPPModel) ของ Stufflebeam มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ใน 4 ด้านคือ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน คือ คณะกรรมการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูป ของ Krejcie and Morgan) และวิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยการจับฉลาก จำนวนทั้งสิ้น 322 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เป็นแบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 ผู้ตอบแบบสอบถาม คือ คณะกรรมการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.93 ฉบับที่ 2 ผู้ตอบแบบสอบถาม คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามของคณะกรรมการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้การประเมินตามรูปแบบซิป CIPP Model พบว่า ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดจำนวน 2 ด้าน อยู่ในระดับมาก จำนวน 2 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านสภาพแวดล้อม รองลงมา คือ ด้านผลผลิต และด้านกระบวนการ ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านปัจจัย เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ทั้งโดยรวมและรายด้าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามของนักเรียน โดยใช้กรอบการดำเนินงานของครูที่ปรึกษา พบว่า ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดจำนวน 3 ด้าน อยู่ในระดับมาก จำนวน 2 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน รองลงมา ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา และด้านการส่งเสริมนักเรียนและด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านการส่งต่อนักเรียน เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ทั้งโดยรวมและรายด้าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน
|