บทคัดย่อ :
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การสร้างความรู้
และความใฝ่เรียนรู้ ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางศิราณี วาลมูลตรี ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย
จังหวัดมหาสารคาม สังกัดสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การสร้างความรู้ และความใฝ่เรียนรู้ ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 2 ห้อง รวม 65 คน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 จำนวน 32 คน เป็นกลุ่มทดลอง และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 จำนวน 33 คนเป็นกลุ่มควบคุม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แบบสอบถามครูเกี่ยวกับสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ 2) แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนการสอน 3) แผนการจัดการเรียนรู้ 4) แบบประเมินความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ 5) แบบวัดการสร้างความรู้ 6) แบบวัดความใฝ่เรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t-test for Independent Samples และ Two-Way ANOVA Repeated Measures
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม อยู่ในระดับมาก มี 3 ประเด็นคือ ด้านความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ด้านการสร้างความรู้ และความใฝ่เรียนรู้
2. รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การสร้างความรู้ และความใฝ่เรียนรู้ ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ มีชื่อว่า “RIKE Model” มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานการเรียนรู้ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการสอน 4) การวัดและประเมินผล 5) ระบบสังคม โดยมีขั้นตอนในการสอนประกอบด้วย 1) ขั้นเตรียมความพร้อมและสร้างความสนใจ 2) ขั้นแสวงหาสารสนเทศ 3) ขั้นสร้างความรู้ 4) ขั้นประเมินผล ผลการประเมินความเหมาะสมพบว่ามีความเหมาะสมระดับมากที่สุดมีความสอดคล้องกันทุกขั้นตอน และมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด
3. ผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์พบว่า 1) ความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับดี เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการกำหนดปัญหา ตั้งสมมติฐาน และระบุความสัมพันธ์ของตัวแปรมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ส่วนด้านการสรุปผลมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนมีพัฒนาการด้านการสร้างความรู้ และความใฝ่เรียนรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนการสอนวิธีปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
|